Jun 29, 2009

มท.3ดึงตั้งกก.ถกค่าครองชีพรสก.ทั้งระบบ

คมชัดลึก : ครส.ตีกลับ 7 รัฐวิสาหกิจขอขึ้นค่าครองชีพ “ ไพฑูรย์ ” ชี้ตัวเลขไม่ชัดเจน เชื่อเสนอครม.ไม่ผ่านแน่ สคร.หวั่น 58 รสก.แห่ขอร่วมวงด้วย ชี้กระทบฐานะการคลังประเทศ เหตุต้องใช้เงิน 7 พันล้านอุ้ม

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่กระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มค่าครองชีพรัฐวิสาหกิจ 7 แห่ง ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ตามข้อเสนอที่คณะกรรมการแรงงานกิจการสัมพันธ์ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง ได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มค่าครองชีพก่อนหน้านี้
นายไพฑูรย์ กล่าวภายหลังการประชุมกว่า 2 ชั่วโมงว่า ที่ประชุม ครส.มีมติยังไม่พิจารณาปรับเพิ่มค่าครองชีพให้กับรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง เนื่องจากเห็นว่าตัวเลขขอเพิ่มค่าครองชีพไม่เท่ากัน โดยททท.อภ.และกทท. เสนอขอปรับเพิ่มค่าครองชีพเดือนละ 1 , 500 บาท และรัฐวิสาหกิจที่เหลืออีก 4 แห่งให้ปรับเพิ่ม 2 , 000 บาท ยังมีความลักลั่น จึงได้มอบให้ฝ่ายเลขานุการของครส.ไปพิจารณาวางกรอบโครงสร้างค่าครองชีพให้มีตัวเลขที่ชัดเจนและครอบคลุมพนักงานที่มีรายได้น้อยมากที่สุด เพื่อเสนอกลับให้ที่ประชุมครส.พิจารณาในคราวหน้า
“สาเหตุที่ยังไม่มีการพิจารณา เนื่องจากครส.ได้เสนอสูตรเพิ่มค่าครองชีพเป็น 2 แนวทาง คือสูตร 1 เสนอให้ปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้ปฏิบัติการที่มีเงินเดือนไม่เกิน 20 , 000 บาท ให้ได้ค่าครองชีพให้ได้คนละ 2 , 000 บาท ไปจนกว่าครม.จะยกเลิกการจ่ายเงินค่าครองชีพชั่วคราวให้กับข้าราชการ ขณะที่สูตร 2 เสนอให้เพิ่มเงินค่าครองชีพให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้ปฏิบัติการโดยไม่ระบุฐานเงินเดือนขั้นต่ำ และกำหนดให้ไม่เกิน 1 , 000 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้ง 2 สูตรนี้ยังมีความขัดแย้งกัน หากเลือกสูตรใด สูตรหนึ่ง ก็จะมีปัญหาถกเถียงไม่จบ และตอบสังคมยาก ที่สำคัญครม.ก็คงไม่ให้ผ่านด้วย ” นายไพฑูรย์ กล่าว
นายไพฑูรย์ กล่าวด้วยว่า การพิจารณาของครส.จำเป็นจะต้องดูตามข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่สามารถทำตามกระแส เพราะเรื่องนี้เมื่อผ่านครส.ไปแล้ว ตนจะต้องนำไปชี้แจงในครม.ดังนั้นการให้ฝ่ายเลขาฯไปเตรียมตัวเลขที่ชัดเจน นอกจากเพื่อความรอบคอบแล้วก็ยังเป็นโอกาสให้รอดูผลการพิจารณาปรับเพิ่มค่าครองชีพของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการประปานครหลวง (กปน.)ที่กระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอครม.ว่าจะผ่านหรือไม่ ทั้งนี้หากครม.ให้ผ่าน ตนก็ยอมรับว่าหนักใจ เพราะต้องมีรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก เสนอขอปรับเพิ่มค่าครองชีพตามมาอีก ซึ่งทราบจากข่าวว่ามีถึง 23 แห่ง ที่เตรียมร้องขอ ก็จะเป็นปัญหาลูกโซ่ไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะข้าราชการก็อาจจะร้องเรียนว่าทำไมไม่ได้รับบ้าง
นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะเลขานุการครส.กล่าวว่า การจะพิจาณาปรับเพิ่มค่าครองชีพหรือไม่นั้น ครส.ต้องคำนึงถึงฐานะทางการเงินของประเทศเช่นกัน เพราะขณะนี้การเงินของรัฐบาลไม่สู้ดี ถ้าหากพิจารณาโดยไม่ดูเหตุผลเรื่องนี้ก็ต้องไปค้างในที่ประชุมครม .ซึ่งตามพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ให้อำนาจครส.พิจารณาเห็นด้วยหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามเหตุผล ไม่ใช่เป็นตรายาง
นางดนุชา ยินดีพิธ รอง ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ( สคร.) กล่าวว่า การเพิ่มค่าครองชีพเป็นเรื่องใหญ่ เพราะครส.ต้องร่วมรับผิดชอบ หากเห็นชอบให้มีการเพิ่มค่าครองชีพ ให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง คนละ 2,000 บาท ต้องใช้เงินถึงปีละ 7 , 066 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าจะทำให้กำไรสุทธิของแต่ละรัฐวิสาหกิจ ลดลง และทำให้รายได้ที่ต้องส่งกระทรวงการคลังลดลงไปด้วย คิดเป็นเงิน 2 , 100 ล้านบาท ขณะที่ภาวะวิกฤติของประเทศกำลังขาดแคลนงบประมาณ ทุกรัฐวิสาหกิจจึงต้องใช้เงินอย่างระมัดระวัง เพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ใช้เงินจากรัฐบาลเป็นทุนประเดิม ดังนั้นรัฐบาลจึงถือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแต่ละรัฐวิสาหกิจจึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐวิสาหกิจจะมาอ้างว่าขึ้นเงินค่าครองชีพแล้วจะไม่กระทบต่อฐานะทางการคลัง
มท.3ดึงตั้งกก.ถกค่าครองชีพรสก.ทั้งระบบ
นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวถึงการพิจารณาการจ่ายค่าครองชีพชั่วคราวให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ ในอัตรา 2,000 บาท หลังจากที่ถูก ครม.ตีกลับให้ไปทบทวนว่า ได้เจรจาพูดคุยกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปานครหลวงแล้ว เห็นว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการกลางที่มีความเชี่ยวชาญดัชนีค่าครองชีพเข้ามามีส่วนในการพิจารณารายได้ขั้นต่ำ และการพิจารณาควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้ง 55 รัฐวิสาหกิจ โดยอาจเป็นรูปแบบเงินโบนัสมากกว่านำผลประกอบการมาเป็นตัวชี้วัด อย่างไรก็ตาม จะยังไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 30 มิ.ย.
“บุญจง”งดชงครม.จ่ายค่าครองชีพพนักงาน กฟน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย กำกับดูแลการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จะนำเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนเดือนละ 2,000 บาทให้กับพนักงาน กฟน. ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5 หมื่นบาทเข้าสู่การพิจารณาของครม.หลังจากการประชุม ครม. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมได้ให้กระทรวงมหาดไทย กลับไปทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่ต่อมานายบุญจง ได้ตกลงกับ สหภาพ กฟน.ว่าจะผลักดันเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม. โดยเปลี่ยนจากอัตราเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทมาเป็น 5 หมื่นบาท ซึ่งจะมีพนักงานกฟน.ได้รับค่าตอบแทน 2 พันบาทจำนวนถึง 6,071 คนเป็นเวลา 12 เดือน รวม 240 ล้านบาทต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 30 มิถุนายน พบว่ากระทรวงมหาดไทย ไม่ได้นำเรื่องดังกล่าวบรรจุไว้ในวาระการประชุม ครม.ในวาระพิจารณาตามปกติแต่อย่างใด ท่ามกลางการคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนักจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์จำนวนมาก โดยเฉพาะนายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพทย์สอบถามนายบุญจง ได้รับคำตอบเพียงว่า จะไม่มีการนำเสนอเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน 2 พันบาทเข้าที่ประชุมวันอังคารนี้แต่อย่างใด จากนั้นก็วางสายโทรศัพท์ทันที

Related Posts



0 comments:

Post a Comment

 

ข่าวสด Copyright © 2009 Gadget Blog is Designed by Ipietoon Sponsored by Online Business Journal